ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย หรือ หัก ณ ที่จ่าย คือเงินที่คน “จ่าย” ที่จดทะเบียนเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลต้อง “หัก” ไว้ก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับคนรับที่เป็นนิติบุคคล หรือคนธรรมดาก็ได้ แล้วนำส่งเป็นภาษีให้กรมสรรพากรไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
1.เงินได้ที่บุคคลซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นผู้รับ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย(นำส่งตามแบบ ภ.ง.ด.3) ที่กำหนดไว้ มีดังต่อไปนี้
1.1เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน
1.2 เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือวิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม
1.3 เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
1.4 เงินได้จากการธุรกิจการพาณิชย์การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่งฯ เฉพาะ ประเภทที่กำหนดไว้ ดังนี้
(1) เงินรางวัลในการประกวดแข่งขัน การชิงโชค หรือการอื่นใดอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน
(2) เงินได้จากการเป็นนักแสดงสาธารณะ
(3) เงินได้จากการรับโฆษณา
(4) เงินได้จากการรับจ้างทำของ
(5) เงินได้จากการให้บริการอื่น ๆ
(6) เงินรางวัล ส่วนลด หรือประโยชน์ใด ๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย
(7) เงินได้จากค่าขนส่ง
2.เงินได้ที่บุคคลซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นผู้รับ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (นำส่งตามแบบ ภ.ง.ด.53) ที่กำหนดไว้มีดังต่อไปนี้
2.1เงินได้จากการขายสินค้าพืชผลการเกษตร (บางประเภท) ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยตั๋วเงิน เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไรหรือประโยชน์ อื่นใด เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากค่าจ้างทำของ เงินได้จากการประกวด แข่งขัน ชิงโชค หรือการอื่น อันมีลักษณะทำนองเดียวกัน เงินได้จากค่าโฆษณา
2.2 เงินได้ตามมาตรา 40 (8)เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการให้บริการอื่น ๆนอกเหนือจากที่กล่าวตาม 2.1
2.3 เงินได้จากค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เฉพาะที่จ่ายให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยในประเทศไทย
2.4 เงินได้ค่าขนส่ง แต่ไม่รวมถึงการจ่ายค่าโดยสารสำหรับการขนส่งสาธารณะ
ข้อสังเกต : จำนวนเงินได้ขั้นต่ำที่ต้องหักภาษีไว้ตาม 1 และ 2 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามสัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป
: ขอบคุณข้อมูลจากกรมสรรพากร